ประเพณีบุญบั้งไฟพนมไพร ประจำปี 2560 Featured

ประเพณีบุญบั้งไฟพนมไพร ประจำปี 2560

 

ปีนี้ทางจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีการจัดงานประเพณี บุญบั้งไฟพนมไพร ประจำปี 2560 โดยได้มีการจัดขบวนแห่ขึ้นในวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2560 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7) ตรงบริเวณสี่แยกสถานีตำรวจกลางเมืองพนมไพร

โดยมีขบวนบั้งไฟจากหลายหมู่บ้าน หลายองค์กรและหน่วยงาน ร่วมส่งขบวนแห่เข้าร่วมประกวด ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ซึ่งในปีนี้ มีขบวนแห่มาทั้งหมด 17 ขบวนด้วยกัน โดยมีนักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจรอชมชิดขอบถนนมีความยาวเกือบ 2 กิโลเมตร โดยขบวนแห่แต่ละขบวนต่างตกแต่งขบวนสวยงามยิ่งใหญ่ตระการตา

พิธีเปิดประเพณีบุญบั้งไฟ พนมไพร พิธีเปิดงานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอพนมไพร มีท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายอำเภอพนมไพร นายกเทศมนตรีตำบลพนมไพร มิสแกรนร้อยเอ็ด และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานพิธี

ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่สำคัญของภาคอีสานของไทยรวมไปถึงลาว โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก ซึ่งในนิทางพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร

ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้ ช่วงเวลาของประเพณีบุญบั้งไฟคือเดือนหกหรือพฤษภาคมของทุกปี

คำว่า “บั้งไฟ” ในภาษาถิ่นอีสาน หมายถึงดอกไม้ไฟชนิดหนึ่ง มีหางยาวเอาดินประสิวมาคั่วกับถ่านไม้ตำให้เข้ากันจนละเอียดเรียกว่า หมื่อ (ดินปืน) และเอาหมื่อนั้นใส่กระบอกไม้ไผ่ตำให้แน่นเจาะรูตอนท้ายของบั้งไฟ เอาไผ่ท่อนอื่นมัดติดกับกระบอกให้ใส่หมื่อโดยรอบ เอาไม้ไผ่ยาวลำหนึ่งมามัดประกบต่อออกไปเป็นหางยาว สำหรับใช้ถ่วงหัวให้สมดุลกัน เพื่อนำไปจุดพุ่งขึ้นสู่อากาศ จะมีควันและเสียงดัง บั้งไฟมีหลายประเภท ตามจุดมุ่งหมายของประโยชน์ในการใช้สอย

วันจุดบั้งไฟ เป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 7  ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน 2560 โดยปีนี้มีผู้ให้ความสนใจมารอชมอย่างมากมาย สองข้างทางเปิดร้านค้าขายของนานาชนิด

บั้งไฟถูกแบ่งเป็น  2 ประเภท คือ

1.บั้งไฟที่ไม่มีหาง เช่น บั้งไฟพุ บั้งไฟพะเนียง บั้งไฟตะไล บั้งไฟดอกไม้ บั้งไฟโครงขาว บั้งไฟม้า

2.บั้งไฟที่มีหางเช่น บั้งไฟน้อย บั้งไฟร้อย บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งประเภทของบั้งไฟได้เป็นแบบต่าง ๆ ได้ดังนี้คือ บั้งไฟโหวด บั้งไฟม้าบั้งไฟช้างบั้งไฟแสน บั้งไฟตะไลบั้งไฟตื้อบั้งไฟพลุ

สำหรับปีนี้มีการจุดบั้งไฟทั้งหมดเป็นจำนวน 1,200 ลูก โดยเป็นบั้งไฟแสน 1,000 ลูก และบั้งไฟหมื่น 200 ลูก โดยต่างกันที่ บั้งไฟหมื่น เป็นบั้งไฟที่บรรจุดินปืนระหว่าง 12 – 119 กิโลกรัม ส่วนบั้งไฟแสน เป็นบั้งไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งบรรจุดินปืน 120 กิโลกรัม

การทำบั้งไฟในสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุด ทะลวงปล้องให้ถึงกัน ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่นเพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม้หนาพอควร แล้วทำการอัดบรรจุหมื่อ (ดินปืน) ให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคาน ปัจจุบันใช้ท่อพีวีซี นอกจากบั้งไฟแล้ว ยังมีการทำพลุ พะเนียง ดอกไม้ไฟ ตะไล (เพื่อจุดในการแห่ร่วมด้วย) นอกจากนั้นตัวบั้งไฟยังต้องมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงามเรียกว่า การเอ้ ซึ่งก็เป็นฝีมือของพระอีกเช่นกัน

สำหรับปีนี้นับว่าเป็นอีกปีหนึ่ง ที่มีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟได้ยิ่งใหญ่ตระการตา แล้วปีหน้า Journey (เจอร์นี่) จะนำภาพบรรยากาศมาฝากอีกแน่นอนค่ะ

ต้องขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางในครั้งนี้

 

 

 

 

Rate this item
(0 votes)

Leave a comment

Make sure you enter the (*) required information where indicated. HTML code is not allowed.