ประเพณีสงกรานต์สังขละบุรี Featured

  • Thursday, 20 April 2017 22:14
  • Published in PR/News
  • Read 15025 times

วันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา Journey ได้มีโอกาสไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ที่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย ได้จัดโครงการ “ขับรถเที่ยวใกล้ สุขใจแค่เอื้อม”

ประเพณีมหาสงกรานต์ที่สังขละบุรี เป็นประเพณีสงกรานต์ของชุมชนชาวมอญ ซึ่งถือเป็นการทำบุญวันขึ้นปีใหม่ไทย การกำหนดวันของการจัดงานจะเปลี่ยนแปลงไปตามปฏิทินสงกรานต์ ซึ่งโดยรวมจะมีระยะเวลาในการจัดงานทั้งหมด 5 วัน และในแต่ละวันก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ได้แก่ วันสงกรานต์ลง วันคาบปี วันขึ้นปีใหม่ วันสรงน้ำพระ และวันกรวดน้ำ โดยกิจกรรมส่วนใหญ่ของ 3 วันแรก คือ การถือศีล นอนวัด เพื่อทำจิตใจให้ผ่องใส ต้อนรับปีใหม่ที่กำลังมาถึง ซึ่งผู้ปฎิบัติส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่

ส่วนในวันที่สี่ จะเป็นการ “สรงน้ำพระ" การสงน้ำพระของชาวมอญ ที่อำเภอสังขละบุรี  จะสรงน้ำพระโดยการสรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ ซึ่งก่อนจะสรงน้ำพระ จะมีการทำพิธีพิสูจน์ความเชื่อและความศรัทธาโดยการให้ “พระเดินเหยียบหลัง” พุทธศาสนิกชนก่อน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวมอญเชื่อและศรัทธาเป็นอย่างมาก มีมานานกว่า 30 ปีแล้ว ส่วนพุทธศาสนิกชนที่จะนอนให้พระสงฆ์เหยียบได้นั้นต้องเป็นเพศชายเท่านั้นโดยชาวบ้านจะนอนกลางแดดให้พระเหยียบหลัง เชื่อว่าเป็นการเสริมมงคลให้แก่ชีวิต

ความเชื่อในการให้พระเหยียบหลังของชาวมอญมีมาตั้งแต่สมัย "หลวงพ่ออุตตมะ" อดีตเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ซึ่งเป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชน โดยก่อนสรงน้ำพระ จะมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากมารอให้ท่านเดินเหยียบหลัง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ปัจจุบันความเชื่อและความศรัทธานี้ยังคงอยู่ 

โดยการให้พระภิกษุสงฆ์เดินเหยียบหลังนั้น จะเริ่มต้นจากพระภิกษุเดินเรียงกันเป็นแถวลงมาจากบันไดเจดีย์พุทธคยา จากนั้นจะเดินเหยียบขึ้นไปบนหลังของพุทธศาสนิกชนที่นอนเรียงราย ก่อนจะไปนั่งที่เก้าอี้ รอการสรงน้ำพระ โดยจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่นต่างนอนคว่ำเบียดเสียดกัน เพื่อรอให้พระภิกษุเดินขึ้นไปเหยียบบนหลังตน

จากนั้นก็จะเป็นประเพณีสงน้ำพระ ซึ่งการสรงน้ำพระของที่นี่ก็จะแตกต่างจากการสรงน้ำพระทั่วไปการสรงน้ำพระของชาวมอญ จะสรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ เนื่องมาจากความเคร่งครัดของพระพุทธศาสนาที่ผู้หญิงไม่ควรจะถวายของแด่พระภิกษุโดยตรง จึงทำให้จำเป็นต้องมีฉากกั้นและใช้รางกระบอกไม้ไผ่เข้ามากั้นกลาง ซึ่งรางกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้จะถูกนำมาต่อเรียงรายจนมีความยาวกว่า 50 เมตร ที่สำคัญการใช้รางกระบอกไม้ไผ่ยังช่วยให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำพระกันอย่างทั่วถึง ถึงแม้จะมีคนมหาศาลแต่ก็จะได้สรงน้ำกันครบทุกคน และในการสรงน้ำพระนี้ จะต้องมีการจัดทำรางกระบอกไม้ไผ่ขึ้นใหม่เป็นประจำทุกปี เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีกลมเกลียว ในการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านที่มาช่วยกันสร้างรางสรงน้ำพระไม่ไผ่

โดยจะเริ่มจากชาวมอญในชุมชนออกไปตัดต้นไผ่เพื่อที่จะนำลำต้น มาทำเป็นรางน้ำเพื่อสรงน้ำพระ โดยกระบอกไม้ไผ่ที่นำมาใช้นั้นจะต้องมีขนาดหนาและใหญ่ จากนั้นชาวบ้านจะนำกระบอกไม้ไผ่มาผ่าครึ่ง และนำมาผูกต่อเรียงกันเป็นแถวๆ นับสิบราง ซึ่งจะมีรางหลักอยู่จำนวน 3 ราง ส่วนรางที่เหลือจะมุ่งตรงมาบรรจบที่รางหลัก เพื่อให้น้ำไหลผ่านฉากดอกไม้ มาสู่พระภิกษุที่นั่งรอการสรงน้ำอยู่หลังฉาก

อีกทั้งในขณะที่สรงน้ำพระ จะมีเจ้าหน้าที่ถือธงสัญญาณสีเขียวและสีแดง หากถือธงเขียว นั่นหมายความว่าให้ชาวบ้านเทน้ำอบ หรือน้ำหอมลงราง น้ำก็จะไหลจากต้นรางมาสู่ปลายราง แต่ถ้าถือธงแดง ชาวบ้านทุกคนจะต้องหยุดเทน้ำใส่รางกระบอกไม้ไผ่ เนื่องจากพระภิกษุที่นั่งอยู่หลังฉากได้สรงน้ำเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากประเพณีสงกรานต์ ที่สังขละบุรียังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจต่างๆอีกมากมาย อีกทั้งการเดินทางมาที่สังขละบุรี ยังได้เรียนรู้ และสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนชาวมอญ

ต้องขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) งานประสานตลาดภาคกลาง ที่ได้ให้ Journey ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีสงกรานต์ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ และพลังแห่งความศรัทธา ปีหน้าอย่าลืมมาเที่ยวงานประเพณีสงกรานต์ที่ สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี กันนะคะ

 

 

 

Rate this item
(0 votes)

1 comment

  • Comment Link ดูบอลสด Sunday, 13 August 2017 13:02 posted by ดูบอลสด

    ดูบอลสด ดูบอลออนไลน์กับเว็ปไซต์ไลน์บอลสด มันส์เต็มที่

Leave a comment

Make sure you enter the (*) required information where indicated. HTML code is not allowed.